ระบบย่อยอาหาร
การย่อยอาหาร (Digestion) หมายถึงการแปรสภาพของสารอาหารที่มีโมเลกุลใหญ่และละลายน้ำไม่ได้ ให้เป็นสารอาหารที่มีโมเลกุลเล็กลงจนสามารถละลายน้ำ และดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยอาศัยกระบวนการทางเชิงกลและกระบวนการทางเคมี
ระบบย่อยอาหารประกอบด้วยอวัยวะหลาย ๆ อวัยวะ ได้แก่ ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ซึ่งอวัยวะบางอวัยวะไม่มีการย่อยแต่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร
การย่อยอาหารเป็นกระบวนการที่ทำให้อาหารที่มีโมเลกุลใหญ่ มีขนาดเล็กลงจนสามารถซึมเข้าสู่เซลล์ได้
การย่อยมี 2 ลักษณะคือ
1. การย่อยเชิงกล เป็นการย่อยอาหารโดยไม่ใช้เอ็นไซม์มาช่วย เป็นการบดเคี้ยวให้อาหารมีขนาดเล็กลง ได้แก่ การบดเคี้ยวอาหารในปาก
2. การย่อยทางเคมี เป็นการย่อยที่ต้องใช้เอ็นไซม์ (หรือน้ำย่อย)มาช่วย ทำให้โมเลกุลของอาหารมีขนาด เล็กลง เช่นการเปลี่ยนโมเลกุลของแป้งเป็นน้ำตาล
สารและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยในกระเพาะอาหาร
1. HCl มี pH อยู่ระหว่าง 0.9-2.0
2. Pepsinogen เป็น Proenzyme ต้องได้รับ HCl จึงเปลี่ยนเป็นเพปซิน (Pepsin) สำหรับย่อยโปรตีนเป็นเพปไทด์ ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโน 4-12 โมเลกุล
3. Prorennin เป็น Proenzyme ต้องได้รับ HCl จึงเปลี่ยนเป็นเรนนิน (Rennin) สำหรับย่อยโปรตีนในน้ำนม 4. Lipase สร้างขึ้นในปริมาณน้อยมาก เพราะสภาพเป็นกรดของกระเพาะอาหาร
5. Gastrin เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์ในกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่กระตุ้นให้ Parirtal Cell หลั่ง HCl ออกมา
อวัยวะที่ใช้ในการย่อยอาหาร
-ปาก เป็นอวัยวะแรกของระบบย่อยอาหาร ภายในปากจะมีส่วนประกอบดังนี้
-ฟัน ทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้มีขนาดเล็กลง
-ต่อมน้ำลาย จะขับน้ำลายซึ่งมีน้ำย่อย ไทอะลิน(Ptyalin) ออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร และช่วยใน การย่อยอาหารจำพวกแป้งให้เป็นน้ำตาล
-ลิ้นจะช่วยกวาด,คลุกเคล้าอาหาร และส่งอาหารที่เคี้ยวลงสู่หลอดอาหาร
-หลอดอาหาร ท่อลำเลียงอาหารอยู่ด้านหลังของหลอดลมและทะลุกระบังลมไปต่อกับปลายบนของกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารที่เคี้ยวแล้วลงสู่กระเพาะอาหาร โดยการบีบรัดของผนังกล้ามเนื้อ
-กระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะที่ต่อจากหลอดอาหาร ในกระเพาะจะขับน้ำย่อยเพบซิน(Pepsin) ซึ่งจะย่อยอาหารโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง จากนั้นจะส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก
-ลำไส้เล็ก การย่อยและดูดซึมสารอาหารส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่นี่ ลำไส้เล็กมีรูปร่างเป็นท่อยาวประมาณ 15 ฟุต มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ภายในลำไส้เล็กจะมีส่วนที่ยื่นออกมาจำนวนมากเรียกว่า วิลไล(villi) ภายในวิลไลมีเส้นเลือดฝอยและน้ำเหลืองช่วยดูดซึมอาหารที่มีโมเลกุลขนาดเล็กเข้าสู่เซลล์ การย่อยอาหารในลำไส้เล็ก เป็นการย่อยขั้นสุดท้าย ซึ่งต้องอาศัยเอ็นไซม์จากลำไส้เล็กเองและจากตับอ่อนในการย่อยอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และโปรตีน นอกจากนี้ยังมีน้ำดีซึ่งสร้างโดยตับและสะสมไว้ในถุงน้ำดี อาหารที่ย่อยแล้วซึมเข้าไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาหารที่เหลือจากการถูกดูดซึมจะเคลื่อนที่ลงสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อถ่ายออกจากร่างกายเป็นอุจจาระต่อไป
-ลำไส้ใหญ่ เป็นส่วนสุดท้ายของระบบย่อยอาหาร อยู่ติดกับลำไส้เล็ก ตรงรอยต่อจะมี ไส้ติ่ง(Vermiform appendix)ติดอยู่ ในลำไส้ใหญ่จะไม่มีการย่อยอาหาร แต่จะมีการดูดซึมน้ำเข้าสู่ร่างกาย และส่งกากอาหารที่เหลือออกสู่ทวารหนักเป็นอุจจาระ